คุณพรชัย รัตนตรัยภพ ผู้บริหารบริษัทอินเตอร์โปรไฟล์ ได้ให้ความเห็นการช่วยเหลือเอสเอ็มอีแบบครบวงจร

1622 Views  | 


พรชัย รัตนตรัยภพ
ประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เจอปัญหาต่างๆ คือ 1.มีกิจการที่ปิดไปไม่สามารถดำเนินการได้ 2.ธุรกิจที่ยังไม่ถูกปิดก็ยังไม่มีคำสั่งซื้อเข้ามา เพราะว่าห่วงโซ่อุปทานขาดช่วง 3.ความต้องการของผู้บริโภคหดตัวลง ประชาชนซื้อน้อยใช้น้อยตามกำลังทรัพย์ที่มี 4.บางโรงงานมีการติดเชื้อโควิดกัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้

เนื่องจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มีความกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาด เพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อได้ ก็ต้องมีความปลอดภัยจากโรคโควิด-19 จึงมีข้อเสนอกับทางรัฐบาล คือต้องมีการฉีดวัคซีนกับแรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรม ตามนิคมอุตสาหกรรม ให้ครบ 100% ผู้ประกอบการมีความยินดีอย่างมาก มันเป็นความเสี่ยงของธุรกิจที่ทำให้ต้องปิดกิจการชั่วคราว หากมีพนักงานแรงงานติดเชื้อขึ้นมา ทำให้แรงงานคนอื่นๆ ก็ต้องกักตัวกัน ทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ เหนือสิ่งอื่นใดกว่าทุกเรื่อง ต้องให้มีการฉีดวัคซีนกับพนักงาน แรงงาน ที่สถานประกอบกิจการยังเปิดดำเนินการอยู่ โดยเฉพาะโรงงานรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เพราะยังมีคำสั่งซื้อจากทั้งในประเทศและต่างประเทศจำนวนมาก

ต่อมาปัญหาโลกแตก คือ เงินในระบบที่ไม่สามารถกู้ยืมได้ ยังคงไม่สามารถกู้ได้เหมือนเดิม เหมือนกับการสัมภาษณ์ในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาว่า ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ได้เลย แต่ผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงสภาพคล่องอย่างมาก โครงการสินเชื่อฟื้นฟู-พักทรัพย์พักหนี้ ตัวใหม่นี้ยังไม่ตอบโจทย์ เป็นการมองภาพที่กว้างเกินไป กิจการไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ คาดว่าจะเหลือวงเงินกู้อีกจำนวนมากเหมือนเดิม บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ก็ไม่สามารถช่วยได้ขนาดนั้น แม้ว่ากิจการจะมีสินทรัพย์มาค้ำประกันก็ตาม เพราะทางสถาบันการเงินดูผลประกอบการของกิจการเป็นหลัก สถาบันการเงินกลัวว่าสินทรัพย์ที่ยึดจากการค้ำประกันได้มานั้นก็ไม่สามารถขายต่อได้

อยากเสนอมาตรการช่วยเหลือซื้อขายลูกหนี้การค้า (แฟคตอริ่ง) ออกมามากกว่า ถ้าธุรกิจเอสเอ็มอีมีการค้าขายกับบริษัทที่มีผลประกอบการดีมีความพร้อมสูง ก็อยากจะให้รัฐบาลช่วยนำเงินมาสนับสนุนตรงนี้น่าจะดีกว่า ให้กิจการมีเงินทุนหมุนเวียนมาดำเนินการต่อ ตอนนี้มีเฉพาะห้างสรรพสินค้า ปกติมีการทำแฟคตอริ่งกันอยู่แล้ว


อยากให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกนโยบายให้กับสถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือกับเอสเอ็มอีที่มีลูกค้าปลายทางการเงินที่มั่นคง บิลควรจะขายลดได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ถูกมากๆ โดยรับทั้งใบแจ้งหนี้ ใบสั่งซื้อ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ เพื่อที่สถานประกอบการจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้

เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อตอนนี้ คือ 1.สถานประกอบการต้องมีผลการดำเนินงานที่ดี 2.ต้องไม่มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 3.มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน บางคนมีหลักทรัพย์แล้วแต่ก็ยังไม่ปล่อยกู้อยู่ดี จึงอยากให้ ธปท.ช่วยกับสถานประกอบการที่ยังดำเนินกิจการอยู่ ออกสินเชื่อแฟคตอริ่งที่มีดอกเบี้ยต่ำ การตั้งกองทุนฟื้นฟูเอสเอ็มอีตอนนี้ ก็ยังไม่มีความรวดเร็ว น่าจะให้สถาบันการเงินช่วยปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง อัตราดอกเบี้ยต่ำมากกว่า คนที่ดำเนินกิจการอยู่ถ้าไม่มีเงินทุนหมุนเวียนก็ไม่สามารถไปต่อได้

การใช้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ผ่านตัวโครงการเราชนะ ม33 เรารักกัน ช่วยในเรื่องของกำลังซื้อของผู้บริโภคได้ดี ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคก็ได้รับผลดีไปด้วย โครงการที่ผ่านระบบเหล่านี้ช่วยผู้ประกอบการรายเล็กได้โดยตรง ตอนนี้รัฐบาลกำลังจ่ายเงินชดเชยแรงงาน ตามระบบประกันสังคม อย่างไรก็ตาม อยากให้เงินกู้รอบใหม่ 7 แสนล้านบาท ได้นำไปใช้ในการช่วยจ่ายค่าจ้างแรงงานสำหรับเด็กจบใหม่ มีการเข้าระบบประกันสังคมถูกต้อง คิดว่าการจ้างงานกับเด็กจบใหม่จะช่วยให้เศรษฐกิจหมุนเวียนดีกว่าการให้เงินไปใช้เฉยๆ

ตอนนี้มีความต้องการแรงงานในระบบน้อย ต้องมีการช่วยจ่ายค่าจ้าง รัฐบาลอาจจะกลัวได้ว่ามีการจ้างงานแบบหลอกลวง ก็สามารถใช้วิธี ให้สถานประกอบการจ่ายค่าจ้างไปแล้ว 3-6 เดือน ค่อยมาเบิกกับทางภาครัฐได้ เด็กจบใหม่หางานทำได้ยากมาก เป็นการให้โอกาสเด็ก อยากให้มีการทำงานเลี้ยงตัวเอง มากกว่าการรับเงินเปล่าๆ มาใช้ เมื่อมีการทำงานในระบบแล้ว ก็ไม่ต้องให้เงินช่วยเหลือแบบ เราชนะ เรารักกัน เพราะตอนนี้รัฐบาลมีการจ่ายเงินช่วยเหลือซ้ำซ้อนกัน ไม่มีการตัดสิทธิในระบบอย่างเช่น ผู้ที่ถือบัตรคนจน เมื่อเข้ามาทำงานในระบบแล้ว ก็ตัดสิทธิบัตรคนจนออกไป

ระบบนี้จะทำให้รู้เลยว่ามีการช่วยผู้ประกอบการ จ้างงานเพิ่มขึ้นเท่าไหร่แล้ว เงินเหล่านี้ผ่านระบบประกันสังคมไปแล้ว จากคนที่ว่างงานไม่มีรายได้ กลายเป็นคนทำงานในระบบได้ ถ้าเป็นแบบนี้ได้คิดว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะจ้างงานเข้ามาในระบบอีกจำนวนมาก ช่วยให้กับเฉพาะเอสเอ็มอี ไม่ต้องช่วยกับธุรกิจรายใหญ่ หรือว่าจะช่วยก็สุดแล้วแต่ ทำให้เขาคิดว่าจ้างเด็กจบใหม่ทำให้มีต้นทุนต่ำ เพราะรัฐบาลช่วย 3-6 เดือน ทำให้คนจนในระบบ คนไม่มีรายได้ในระบบ ที่รอเงินเปล่าๆ จากรัฐบาล จะกลายเป็นคนมีอาชีพเข้ามาในระบบประกันสังคม จะได้ตัดสิทธิที่ได้รับต่างๆ ออกให้หมด
 
https://www.matichon.co.th/politics/politics-in-depth/news_2737576

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our Privacy Policy  and  Cookies Policy